ผู้ตั้งคณะ

ผู้ตั้งคณะสติกมาติน

           คณะสติกมาติน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า คณะรอยแผลศักดิ์สิทธิ์แห่งพระเยซูคริสตเจ้า ก่อตั้งเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1816 โดย นักบุญกัสปาร์    แบร์โทนี ณ เมืองเวโรนา อิตาลี โดยการดลใจของพระเจ้าและด้วยความมั่นใจว่าเป็นพระประสงค์ของพระองค์ ท่านได้ดำเนินการก่อตั้งคณะนักบวชขึ้น โดยมีเป้าหมายให้เป็นกลุ่มนักบวช ที่อุทิศตนเจริญชีวิตตามแบบพระเยซู คริสตเจ้าในฐานะ “ธรรมทูตแพร่ธรรมในการรับใช้พระสังฆราช พร้อมที่จะไปที่ใดก็ตามในโลกเพื่อปฏิบัติศาสนบริการต่างๆ  ที่เหมาะสมตามกระแสเรียกของคณะ” อารามแห่งแรกคือ ที่วัดสติมมาเต เมืองเวโรนา

ประวัตินักบุญกัสปาร์ แบร์โทนี  ผู้สถาปนาคณะ

           เกิดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ.1777 ณ เมืองเวโรนา ประเทศอิตาลี ตั้งแต่ในวัยเด็ก ท่านได้เผชิญกับปัญหา และความยากลำบากมากมาย ทั้งปัญหาในครอบครัวและสังคมแวดล้อม ซึ่งในช่วงเวลาที่ท่านมีชีวิตอยู่ เวโรนาเป็นสมรภูมิรบระหว่างฝรั่งเศสกับออสเตรีย สงครามได้ทำลายบ้านเรือนย่อยยับและยังทำให้ชาวเมืองบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก 

           ด้วยชีวิตที่ใกล้ชิด และได้รับการทรงนําจากพระเจ้าตลอดเวลานับตั้งแต่วัยเด็ก ดังนั้น หลังจากได้ไตร่ตรอง และปรึกษากับพระสงฆ์เจ้าวัด เกี่ยวกับกระแสเรียกของตนแล้ว ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ.1795 ขณะอายุได้ 18 ปี กัสปาร์ก็ได้ตัดสินใจเข้าบ้านเณรสังฆณฑลเวโรนา และได้รับศีลบวชเป็น “พระสงฆ์”   เมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1800

           คุณพ่อลากอร์แดร์ เพื่อนร่วมสมัยของ คุณพ่อกัสปาร์ ได้เขียนบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตสงฆ์ไว้อย่างน่าประทับใจทีเดียว ท่านเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า “จงอยู่ในโลก แต่อย่าเป็นของโลก – จงเป็นส่วนหนึ่งของทุกๆ ครอบครัว แต่อย่าตกเป็นของครอบครัวใดเลย – จงนำมนุษย์ไปหาพระเจ้า และนำพระเจ้ามาสู่มนุษย์ – พระเจ้าข้า นี่แหละชีวิต และเป็นชีวิตนี้แหละที่เป็นของพระองค์ โอ พระสงฆ์ของพระเยซูคริสตเจ้า!” และดูเหมือนว่า ไม่มีใครปรารถนาที่จะมีชีวิตเช่นนี้มากเท่า คุณพ่อกัสปาร์ อีกแล้ว       

           ด้วยความเชื่อ และมั่นใจในพระญาณสอดส่องของพระเจ้า และด้วยประสบการณ์ภายในกับพระเจ้า คุณพ่อกัสปาร์ จึงทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ของท่าน ทำงานเพื่อรับใช้ทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนป่วย ท่านไปเยี่ยมและอวยพรคนป่วย และคนชราตามบ้าน เยี่ยมผู้ต้องขัง ท่านนำความรักของพระเยซูเจ้าไปสู่ผู้ต้องขังทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่กำลังต้องการความบรรเทาใจอย่างมาก รวมถึงการไปให้คำปลอบใจแก่บรรดาทหารทั้งสองฝ่าย

           เยี่ยมเยียนบรรดาเยาวชนที่ถูกทอดทิ้ง ที่สุด ท่านก็ได้ก่อตั้ง “ศูนย์เยาวชน” ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ โดยมอบศูนย์ใหม่นี้ไว้ในความอุปถัมภ์คุ้มครองของพระแม่มารีย์

           นอกจากนี้ พระสังฆราชแห่งเวโรนาได้มอบหมายให้ คุณพ่อกัสปาร์ ไปเป็นผู้ให้คำแนะนำชีวิตฝ่ายจิตที่บ้านเณรของสังฆมณฑล และยังได้ขอความช่วยเหลือจากท่าน ให้เป็นผู้นำในการฟื้นฟูชีวิตสงฆ์ในสังฆมณฑลใหม่ เนื่องจาก ขณะนั้นสงคราม และการเรียกร้องเสรีภาพอย่างไร้ขอบเขต ได้เข้ามามีอิทธิพลครอบงำชีวิตสงฆ์จนส่งผลให้พระสงฆ์และนักบวชจำนวนมากหลงทางไป

           แม้ คุณพ่อกัสปาร์ จะมีงานล้นมือ แต่ท่านไม่เคยละเลยเวลาสำหรับการภาวนา ท่านใช้เวลาที่มีอยู่อย่างน้อยนิดในแต่ละวันสนทนาตามลำพังกับพระเจ้า ผู้เป็นแหล่งพลังทั้งหมดของท่าน ท่านปฏิบัติกิจศรัทธาประจำวันอย่างเคร่งครัด ทั้งในการเรื่องการถวายบูชาขอบพระคุณ (มิสซา) การรำพึง การอ่านหนังสือบำรุงศรัทธา และการสวดสายประคำ บ่อยครั้งที่ท่านใช้เวลาในการพักผ่อนตอนกลางคืน เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพื่อจะได้มีเวลาในการสวดภาวนาและอยู่กับพระเจ้ามากขึ้น ท่านได้เริ่มเขียนบันทึกชีวิตฝ่ายจิตของท่าน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1808 โดยท่านได้เขียนความตั้งใจของท่านไว้ว่า “แสวงหาแต่พระเจ้าเท่านั้น พบพระองค์ในทุกสิ่ง นี่จะทำให้เป็นนายเหนือสรรพสิ่งในโลก” นี่เป็นความตั้งใจที่สะท้อนมาจากการยึดมั่นในพระวาจาของพระเยซูคริสตเจ้าที่ทรงตรัสไว้ว่า “ท่านอยู่ในโลก แต่ท่านไม่เป็นของโลก”

           จากประสบการณ์การทำงานในบ้านเณรของท่าน ทำให้ท่านมีความคิดที่จะก่อตั้งคณะนักบวชขึ้นสักคณะหนึ่ง ที่สมาชิกทุกคนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเหมือนพี่น้อง และร่วมกันทำงานรับใช้พระวรสารของพระคริสตเจ้า นำพระวาจาของพระองค์ไปประกาศ ในที่ที่ถูกละเลย หรือในที่ที่ขาดโอกาสจะได้รับ ความปรารถนาของท่านค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้น เมื่อเพื่อนพระสงฆ์ 4 คนที่รวมเป็นกลุ่มเดียวกับท่านต่างตระหนักถึงคุณค่าของการเทศน์แพร่ธรรมด้วยเช่นกัน   ที่สุด  ภายใต้การดลใจของพระเจ้า ท่านก็ได้ตั้งคณะนักบวชใหม่ขึ้น ในปี ค.ศ. 1816 คุณพ่อกัสปาร์ พร้อมกับเพื่อนอีก 2 คน ได้ย้ายเข้าไปอยู่ใน “อารามสติมมาเต” เป็นครั้งแรก หลังจากได้ช่วยกันบูรณะซ่อมแซมอารามและวัดจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อมา กลุ่มพระสงฆ์ที่ดำเนินชีวิตร่วมกันในอารามสติมมาเตก็ได้ค่อย ๆ เปิดเผยตัวเองให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของชาวเมือง ซึ่งทีละเล็กละน้อย ชีวิตและกิจการงานของคณะสงฆ์กลุ่มนี้ก็ได้ค่อยๆ ฉายแสง และเป็นที่กล่าวถึงไปทั่ว พวกท่านเริ่มออกไปทำงานด้านการเทศน์ในวัดต่างๆ ทั่วเมืองเวโรนา และทำงานด้านเมตตาสงเคราะห์กับคนยากจน คนขัดสน และคนต้องการความช่วยเหลือ

           คุณพ่อกัสปาร์ ได้รับการแต่งตั้งจากพระสันตะสำนักให้เป็น “ธรรมทูตแพร่ธรรม” นี่เป็นเครื่องหมายว่า การเทศน์แพร่ธรรมเป็นงานหนึ่งที่สำคัญในงานศาสนบริการของคณะของเรา

           ช่วงระยะเวลา 3 ปีสุดท้ายของชีวิต คือช่วงเวลาแห่งการเป็นมรณสักขีของคุณพ่อกัสปาร์ เนื้องอกที่ขาแสดงอาการหนักขึ้น จนท่านต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา ไม่สามารถลุกหรือเดินไปไหนได้อีก แต่ท่านก็น้อมรับความเจ็บปวดโดยไม่บ่นเลย ท่านรู้สึกว่าตัวท่านเป็นเหมือนพระเยซูเจ้าขณะถูกตอกด้วยตะปูตรึงไว้บนไม้กางเขน ท่านก็ถูกตอกด้วยตะปูตรึงไว้กับเตียงด้วยเช่นกัน นี่จึงเป็นเขากัลวารีโอของท่าน คุณพ่อกัสปาร์รอคอยเวลาสุดท้ายที่กำลังจะถึง วันแห่งการสิ้นสุดของความทุกข์ทรมานทั้งปวง เพื่อท่านจะได้มอบวิญญาณของท่านถวายคืนแด่พระบิดาเจ้า ด้วยคำพูดเดียวกับพระเยซูเจ้าที่ว่า “พระบิดาเจ้าข้า ลูกขอมอบจิตวิญญาณทั้งหมดของลูกไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์”

           ท่านได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบในตอนบ่ายวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ.1853  ในอารามสติมมาเต ขณะอายุได้ 76 ปี เมื่อชาวเมืองเวโรนาได้รับข่าวอันน่าเศร้าสลดใจนี้ ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า

“ท่านนักบุญตายเสียแล้ว”

           สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น  ปอล ที่ 2  ได้ประกาศแต่งตั้ง คุณพ่อกัสปาร์ แบร์โทนี่ เป็นนักบุญ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989