โรงเรียนดาวรุ่งวิทยา ภูเก็ต

http://www.dr.ac.th

โรงเรียนดาวรุ่งวิทยาเป็นโรงเรียนคาทอลิก บริหารการศึกษาโดยคณะนักบวชสติกมาติน ตั้งอยู่เลขที่ 31 ถนนเจ้าฟ้า อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 40 ไร่เศษ เดิมเป็นที่ดินของบริษัท ระเงงติน ไล เอบิลิตี้ บริษัทได้ดำเนินกิจการเรือขุดแร่ตลอดมา จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2484 จึงได้ละทิ้งกิจการและอพยพหนีกลับประเทศ รัฐบาลไทยจึงเข้าควบคุมทรัพย์สินของชนต่างด้าวทั้งหมด เมื่อสงครามสงบรัฐบาลได้คืนทรัพย์สินให้ แต่บริษัท ระเงงตินฯ ไม่ขอรับทรัพย์สินคืนเพียงแต่ให้รัฐบาลจ่ายเงินทดแทนให้ โดยมีกรมโลหกิจกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินแทนรัฐบาลไทย

พ.ศ. 2496 รัฐบาลไทยได้ประมูลขายที่ดินผืนนี้ โดยบริษัทอนุภาษและบุตร จำกัด เป็นผู้ประมูลได้ ต่อมาในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 บริษัทอนุภาษและบุตร จำกัด ได้ขายให้นายสงวน – นางซิวยิ่ง บิดา-มารดา ของนายปีเตอร์ สิทธิอำนวย เพื่อให้นายปีเตอร์ จัดตั้งสถาบันการศึกษา แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ ประจวบกับมิสซังโรมันคาทอลิกราชบุรีในขณะนั้น มีความประสงค์ จะจัดตั้งโรงเรียนขึ้นในจังหวัดภูเก็ตเช่นกัน

โรงเรียนดาวรุ่งวิทยานายปีเตอร์ สิทธิอำนวย จึงได้มอบให้พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ประมุขมิสซังโรมันคาทอลิกเป็นผู้ดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ให้นายปีเตอร์เป็นเจ้าของโรงเรียนในนาม ให้นายศิลป์ ทองตัน เป็นผู้จัดการ และให้คุณพ่อลีโน อินามาและคุณพ่อเอจีดีโอ ไอรากี จากคณะสงฆ์สติกมาตินเป็นอธิการและรองตามลำดับ และนายประสงค์ ประทีป ณ ถลาง เป็นครูใหญ่โดยทำการเปิดสอนและรับเฉพาะนักเรียนชาย ครั้งแรกเมื่อ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 มีชั้นประถม 1 จำนวน 3 ห้องเรียน และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 3 ห้องเรียน

นอกจากนั้นได้เปิดสอนภาษาอังกฤษสำหรับประชาชนทั่วไป ในภาคค่ำโดยมีคุณพ่อโจเซฟ เอ็ดเวอร์ด ฟลัด คุณพ่อร็อคโก เจ เลโอติโล คุณพ่อชาร์ล นารานโจ และคุณพ่อเอจีดีโอ ไอรากี เป็นอาจารย์ การสอนภาษาอังกฤษนี้ดำเนินไปเป็นเวลา 2 ปี จึงยุติการสอน

วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2502 นายปีเตอร์ สิทธิอำนวย ได้มอบกิจการ และที่ดินผืนแรกให้คณะสติกมาตินเป็นผู้รับผิดชอบ รวมทั้งที่ดินข้างเคียงที่คณะสติกมาตินจัดซื้อเพิ่มเติม ในนามสังฆมณฑล รวมพื้นที่ประมาณ 39 ไร่เศษ โดยมีพระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโตเป็นเจ้าของโรงเรียนในนามสังฆมณฑล และแต่งตั้งให้คุณพ่อโจเซฟ เอ็ดเวอร์ด ฟลัด เป็นอธิการ นายกิจจา อนิวรรตน์ เป็นผู้จัดการและนายนิวัฒน์ เกษตริยะ เป็นครูใหญ่ ในปีนี้เองได้เริ่มรื้อถอนอาคารเรียนไม้จำนวน 2 หลัง ก่อสร้างตึกคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น และพัฒนาโรงเรียนจนเจริญรุดหน้าอย่างดีตลอดมา ผลการเรียนนักเรียนดีเด่น จนกระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยะฐานะเทียบเท่ารัฐบาล ในปี พ.ศ. 2503 จากนั้นโรงเรียนดำเนินกิจการต่อมาจนเป็นที่รู้จักอย่างดีในชุมชนท้องถิ่นภูเก็ต

ปีการศึกษา 2540 โรงเรียนได้มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่การได้รับความช่วยเหลือจากคณะซิสเตอร์ผู้รับใช้ดวงหทัยนิรมลของพระแม่มารีย์ ได้มอบหมายให้ซิสเตอร์ศรีเวียง อาภรณ์รัตน์ มาเป็นครูใหญ่ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2540 – 2548 ซิสเตอร์ได้มาช่วยเหลือปรับปรุงพัฒนาส่วนต่างๆ ของโรงเรียน ระบบการบริหารงาน งานวิชาการ กิจการนักเรียน อาคารสถานที่ เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ การดูแลเอาใจใส่นักเรียนให้มีระเบียบวินัย กิริยามารยาท เรียบร้อย มีสัมมาคารวะ มีคุณธรรม จริยธรรมในชีวิตของนักเรียน เพื่อให้พวกเขาเจริญเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพในสังคม สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข

ปีการศึกษา 2543 ได้เริ่มการก่อสร้างอาคารเรียนเพิ่ม เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้น 18 ห้องเรียน การก่อสร้างนี้ได้รับความร่วมมือจากศิษย์เก่า เจ้าหน้าที่ของรัฐบาล และอีกหลายๆ ฝ่าย วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 มีพิธีเปิดและเสกอาคาร “มารีอา” อย่างเป็นทางการ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้นคือ คุณพงศ์โพยม วาศภูติ และพระสังฆราชไมเคิล ประพนธ์ ชัยเจริญ เป็นประธานในพิธี

ปีการศึกษา 2546 โรงเรียนได้รับการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอก จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ซึ่งผ่านเกณฑ์เป็นที่น่าพอใจยิ่ง

ปีการศึกษา 2549 มีพิธีเปิด – เสกอาคาร “โจเซฟ” และโรงอาหารใหม่ อย่างเป็นทางการ ในวันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ได้รับเกียรติจากท่านพระสังฆราชโจเซฟ ประธาน ศรีดารุณศีล และท่านผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมเป็นประธานในพิธี อาคารนี้ สูง 4 ชั้น 22 ห้องเรียน และมีห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 2 ห้อง ห้องปฏิบัติการ วิทยาศาสตร์ 2 ห้อง

ปีการศึกษา 2552 มีพิธีเปิด – เสก อาคารอนุบาลโดยได้รับเกียรติจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารและมีคุณพ่อวสันต์ พิรุฬห์วงศ์ อธิการเจ้าคณะสติกมาติน ให้เกียรติเป็นประธานในวจนพิธีกรรมเสกอาคารเรียนอาคารหลังนี้เป็นอาคารเรียนคอนกรีต 2 ชั้น มีหลังคาเหล็กเสริม ครอบคลุมอาคารทั้งหมด

ปัจจุบัน ปีการศึกษา 2562 คุณพ่อจีระศักดิ์ ยงบรรทม เป็นแทนผู้รับใบอนุญาตผู้จัดการ และได้เชิญภคินีคณะรักกางเขนแห่งจันทบุรีเข้ามาช่วยในการบริหารโรงเรียน ซึ่งคณะฯ ได้ให้ ซิสเตอร์ดวงแข รัตโนภาส มาช่วยบริหารโรงเรียนในตำแหน่งผู้อำนวยการ

โรงเรียนดาวรุ่งวิทยามีนักเรียน 1,512 คน และครู 98 คน จัดการเรียนการสอนแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ

ระดับเตรียมอนุบาลถึงอนุบาล เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาลจนถึงระดับ อนุบาล 1 ถึง อนุบาล 3 แบ่งออกเป็น 2 แผนการเรียนคือ แผนการเรียนทั่วไป ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ และแผนการเรียน EP กิจกรรมการเรียนการสอนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ แต่มุ่งเน้นด้านภาษาอังกฤษ และภาษาจีน โดยมีครูชาวต่างชาติ เจ้าของภาษาโดยตรง เป็นผู้จัดกิจกรรมการเรียนการสอน

ระดับประถมศึกษา เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แบ่งเป็น 2 แผนการเรียน คือ แผนการเรียนทั่วไป และแผนการเรียน IEP

ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เปิดสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 แบ่งเป็น 3 แผนการเรียน คือ แผนการเรียนทั่วไป แผนการเรียนวิทย์- คณิต และแผนการเรียน IEP

ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เปิดสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 แบ่งเป็น 3 แผนการเรียน ได้แก่ แผนการเรียนวิทย์-คณิต แผนการเรียนคณิต – อังกฤษ (ศิลป์ – คำนวณ) และแผนการเรียนจีน – อังกฤษ (ศิลป์ – ภาษา)

ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนมีอาคารเรียนเพิ่มอีกหนึ่งอาคารคือ อาคารกัสปาร์หลังใหม่ แทนอาคารเก่าที่ทรุดโทรม นับเป็นความร่วมมือร่วมใจจากทุกส่วนที่ทำให้อาคารเรียนกัสปาร์หลังใหม่เสร็จสมบูรณ์ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ทางโรงเรียนเปิดใช้งานบางส่วน และจะเริ่มนำนักเรียนจากอาคารกัสปาร์หลังเก่าย้ายมาเรียนยังอาคารกัสปาร์หลังใหม่นี้

โรงเรียนยังคงปรับปรุง พัฒนาโรงเรียนในด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ทำให้เห็นความเจริญเติบโต ความก้าวหน้าของโรงเรียนอย่างเด่นชัด เพื่อให้นักเรียนเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ รู้จักรับผิดชอบต่อสังคมและสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุข ซึ่งสรุปไว้เป็นปรัชญาการศึกษาของโรงเรียนดาวรุ่งว่า “พัฒนาความรู้ เชิดชูคุณธรรม กิจกรรมพร้อมมูล เกื้อกูลชุมชน”